Monaco, Principality of

ราชรัฐโมนาโก




     ราชรัฐโมนาโกเป็นรัฐขนาดเล็กของยุโรปที่มีชื่อเสียงในด้านสถานที่ตากอากาศและพักผ่อนหย่อนใจของมหาเศรษฐีทั่วโลก รวมทั้งเป็นสถานที่เล่นการพนันระดับหรู ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศ แม้ฝรั่งเศส จะพยายามแผ่อิทธิพลเข้าครอบครองมาโดยตลอด แต่เจ้าผู้ครองราชรัฐแห่งราชวงศ์กรีมัลดี(Grimaldi) ก็สามารถรักษาอธิปไตยของประเทศไว้ได้ และพัฒนาประเทศขนาดเล็กนี้ให้เจริญก้าวหน้าและมีจำนวนประชากรต่อพื้นที่อาศัยหนาแน่นที่สุดในโลก
     แม้ว่าโมนาโกจะเป็นเพียงรัฐเล็ก ๆ แต่ก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่อาจมองย้อนกลับไปได้นับพัน ๆ ปี ชุมชนแรก ๆ ที่จัดตั้งขึ้นในโมนาโก ได้แก่ ชุมชนของพวกลูกู เรียน (Lugurian) ซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยในช่วงระยะเวลาที่พวกอพยพที่พูดภาษาอินโด-ยูโรเปียนเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเขตโปรวองซ์ (Provence) และลิกูเรีย(Liguria) ในฝรั่งเศส นักเขียนและนักประวัติศาสตร์กรีกในศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสต์ศักราชมีบันทึกไว้ว่า พวกลูกู เรียนเป็นชาวเขาที่ทำงานหนักและเป็นตัวอย่างของการมัธยัสถ์ ในศตวรรษที่ ๑๐ ก่อนคริสต์ศักราชพวกฟินิเชีย (Phoenician)ซึ่งเป็นนักเดินเรือและพ่อค้าได้เดินทางจากเอเชียไมเนอร์มาสร้างท่าเรือขึ้นในโมนาโกหลังจากนั้น โมนาโกก็ตกเป็นของพวกโฟเชียน (Phocian) ซึ่งเป็นชาวกรีกกลุ่มหนึ่งพวกโฟเชียนได้สร้างเทวสถานให้แก่เทพเฮราคลีส (Heracles) หรือชาวโรมันเรียกว่าเฮอร์คิวลีส (Hercules) และเรียกเทวสถานนี้ว่า “เฮราคลีส โมโนอิกอส”(HeraclesMonoikos) แปลว่า เฮราคลีสเพียงองค์เดียว (Heracles Alone) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อโมนาโกในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี ในช่วงที่กรีกและต่อมาโรมันได้ครอบครองท่าเรือในโมนาโกนั้น ท่าเรือสำคัญแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า ท่าเรือเฮราคลีสหรือเฮอร์คิวลีส และเป็นท่าเรือที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป
     หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลายลงใน ค.ศ. ๔๗๖ดินแดนโมนาโกก็ถูกพวกอนารยชนเผ่าต่าง ๆ ผลัดกันเข้ารุกราน รวมทั้งพวกซาระเซ็น (Saracen) ที่เข้ารุกรานในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ และสร้างป้อมปราการขึ้นที่เดอะร็อก (The Rock) แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ บรรพบุรุษของชาวโมนาโกก็สามารถขับไล่พวกซาระเซ็นและในเวลาต่อมาประชาชนก็ค่อย ๆ กลับเข้ามาอาศัยอยู่บนฝั่งทะเลลิกูเรียอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๐๗๐ ตระกูลกรีมัลดีจากเมืองเจนัว (Genoa) ในคาบสมุทรอิตาลี ได้เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนในโมนาโก ในช่วงที่เกิดสงครามครู เสด (Crusades ค.ศ.๑๐๙๖-๑๒๙๑) ตระกูลกรีมัลดีได้สร้างป้อมปราการที่แนวหาดรีเวียราทางตะวันตกขึ้นใน ค.ศ. ๑๑๙๑ เพื่อป้องกันการโจมตีจากเรือรบของพวกซาระเซ็น
     ใน ค.ศ. ๑๒๑๕ เจนัว (Genoa)ได้ยึดดินแดนโมนาโกเป็นอาณานิคม โดยมีฟุลโกเดสกัสเซลโล (Fulcodes Cassello) เป็นผู้นำ และในช่วงเวลาเดียวกันนี้จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ได้พระราชทานอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดรอบ ๆ บริเวณเดอะร็อก นับเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ราชรัฐโมนาโก มีการเสริมสร้างป้อมปราการให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและขยายเป็นวงแหวนรอบเดอะร็อก นอกจากนี้ยังมีการยกที่ดินและยกเว้นการเสียภาษีแก่ผู้เข้ามาตั้งรกราก ทำให้โมนาโกกลายเป็นดินแดนสำคัญและเป็นที่แย่งชิงดินแดนกันระหว่างชาวเจนัว (Genoa)ที่เป็นพวกเกวลฟ์ (Guelf) ซึ่งสนับสนุนสันตะปาปาและพวกกิเบลลีน (Ghibelline) ที่สนับสนุนจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ขณะเดียวกันในเมืองเจนัว (Genoa) ความขัดแย้งระหว่างพวกเกวลฟ์กับพวกกิเบลลีนก็ทวีความรุนแรงขึ้นและกลายเป็นสงครามกลางเมืองใน ค.ศ. ๑๒๗๐ เป็นต้นไป
     ใน ค.ศ. ๑๒๙๖พวกเกวลฟ์ซึ่งมีขุนนางตระกูลกรีมัลดีรวมอยู่ด้วยได้ถูกขับออกจากเจนัว (Genoa)และต้องไปลี้ภัยที่โปรวองซ์ ต่อมาในวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. ๑๒๙๗ฟรองซัว กรีมัลดี (FranÇois Grimaldi) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในสมญานามมาลีเซีย(Malizia) หรือ “เจ้าเล่ห์” ได้นำกองทัพขนาดเล็กเข้ายึดป้อมปราการโมนาโกด้วยการปลอมตัวเป็นนักบวชในนิกายฟรานซิสกัน (Franciscan) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการครอบครองและการปกครองโมนาโกอย่างแท้จริงของตระกูลกรีมัลดี ซึ่งในค.ศ. ๑๙๙๗ โมนาโกจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองวาระครบ ๗๐๐ ปีที่ราชวงศ์กรีมัลดีได้อำนาจปกครองโมนาโก นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นที่มาของรูปนักบวช๒ รูป ที่ยึนด้านซ้ายและด้านขวาของตราโล่ในตราประจำราชวงศ์กรีมัลดีด้วย ตระกูลกรีมัลดีได้อำนาจปกครองโมนาโกเพียง ๔ ปีก็ถูกขับไล่ แต่ใน ค.ศ. ๑๓๓๑ได้หวนกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ชาลส์ที่ ๑ ได้ใช้เงินซื้อที่ดินในครอบครองของตระกู ลสปีโนลัส (Spinolas) ซึ่งเป็นพันธมิตรของพวกกิเบลลีนและให้อพยพออกจากโมนาโก ต่อมาได้ขยายดินแดนในครอบครองโดยการซื้อมองตง (Menton)และร็อกบรูน (Roquebrune) ซึ่งมาพร้อมกับตำแหน่ง “ลอร์ด” (lord) และทำให้เขาใช้บรรดาศักดิ์ ลอร์ดแห่งโมนาโกเป็นคนแรกของตระกูล นับแต่นั้นเป็นต้นมาตระกูลกรีมัลดีก็สามารถควบคุมการค้าและกิจการทางการเมืองต่าง ๆ ในโมนาโกได้ขณะเดียวกัน ชาลส์ที่ ๑ ก็สร้างความความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศส โดยส่งกองทหารหน้าไม้จำนวนหนึ่งเข้าร่วมในยุทธการที่เกรซี(Battle of Cr”cy) ใน ค.ศ. ๑๓๔๖ และส่งกองเรือเข้ายึดเมืองกาเล (Calais) แต่อำนาจอธิปไตยของตระกูลกรีมัลดีเหนือโมนาโกก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และถูกเจนัว (Genoa)อ้างสิทธิ์ มาโดยตลอดจนกระทั่งพระเจ้าชาลส์ที่ ๘ (Charles VIII ค.ศ. ๑๔๘๓-๑๔๙๘) แห่งฝรั่งเศส และดุ็กแห่งซาวอย (Duke of Savoy) ประกาศยอมรับเอกราชของโมนาโกใน ค.ศ. ๑๔๘๙ต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๐๗ เจนัว (Genoa)ได้ส่งทหารเข้ายึดป้อมปราการของโมนาโกและสามารถปิดล้อมได้เป็นเวลากว่า ๓ เดือนก่อนถูกกองทหารที่ประจำการในป้อมปราการเอาชนะและขับไล่ได้สำเร็จ อีก ๕ ปีต่อมา พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๒ (Louis XIIค.ศ. ๑๔๙๘-๑๕๑๕) แห่งฝรั่งเศส ก็ทรงรับรองอำนาจอธิปไตยของโมนาโกอีกครั้งและการเป็นพันธมิตรถาวรระหว่างฝรั่งเศส กับโมนาโก ทั้งยังทรงยืนยันตำแหน่งลอร์ดแห่งโมนาโกของตระกูลกรีมัลดีว่าได้มาจาก “พระเป็นเจ้าและพระแสงดาบ”(God and the Sword)
     อย่างไรก็ดี ในรัชสมัยของพระเจ้าฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๕๑๕-๑๕๔๗) แห่งฝรั่งเศส ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศส กับโมนาโกดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นเพราะลอร์ดออกูสแตง (Augustin) บิชอปแห่งกราส (Bishop of Grasse)ซึ่งทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการให้แก่โอโนเรที่ ๑ (Honor” I ค.ศ. ๑๕๓๒-๑๕๘๑)หลานชายได้ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝรั่งเศส จึงเป็นการเปิดโอกาสให้จักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ (Charles V ค.ศ. ๑๕๑๙-๑๕๕๘) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หรืออีกพระอิสริยยศพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ. ๑๕๑๙-๑๕๕๖) แห่งสเปน เข้าแทรกแซง ในที่สุดพระเจ้าฟรานซิสที่ ๑ กับจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ก็ทรงบรรลุข้อตกลงกันได้ใน ค.ศ. ๑๕๒๔ โดยให้โมนาโกอยู่ในอารักขาของสเปน ต่อมาในค.ศ. ๑๖๑๒ โอโนเรที่ ๒ (Honor”II ค.ศ. ๑๖๐๔-๑๖๖๒) นัดดาของโอโนเรที่ ๑ก็ประกาศตนเป็น “เจ้าชายและลอร์ดแห่งโมนาโก”ซึ่งทั้งกษัตริย์แห่งสเปน และกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ก็ทรงให้การรับรอง และทำให้โมนาโกมีฐานะเป็นราชรัฐชั้นพรินซิพาลิตี (Principality)
     แม้โมนาโกจะอยู่ในอารักขาของสเปน แต่เจ้าชายโอโนเรที่ ๒ ก็ทรงดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับฝรั่งเศส ทรงใช้เวลากว่า ๑๐ ปีในการโน้มน้าวให้ฝรั่งเศส สนับสนุนด้านการทหารแก่โมนาโกและประสบความสำเร็จใน ค.ศ. ๑๖๔๑ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ ทรงยินยอมลงพระนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการช่วยเหลือโมนาโกโดยมีคาร์ดินัลรีเชอลีเยอ (Richelieu) อัครเสนาบดีผู้มีอิทธิพลสูงสุดในราชสำนักฝรั่งเศส ให้การสนับสนุน ทั้งยังทรงให้การยืนยันอำนาจอธิปไตยขององค์ประมุขและรับรองเอกราชของโมนาโกตลอดจนอภิสิทธิ์ และสิทธิต่าง ๆ ฝรั่งเศส ได้ส่งกองทหารไปประจำการในโมนาโกโดยให้อยู่ในบัญชาการโดยตรงของเจ้าชายแห่งโมนาโก แต่กองทหารสเปน ที่ประจำการในโมนาโกไม่ยอมถอนตัวออกและยึดครองป้อมปราการเจ้าชายโอโนเรที่ ๒ จึงทรงรวบรวมกำลังติดอาวุธขับไล่กองกำลังสเปน และสามารถยึดป้อมปราการกลับคืนได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักฝรั่งเศส กับราชสำนักโมนาโกก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เจ้าชายโอโนเรที่ ๒ ทรงได้รับพระราชทานพระเกียรติยศและอภิสิทธิ์ ต่าง ๆ ตลอดจนบรรดาศักดิ์ ในฐานะลอร์ดของที่ดินหลายผืนในฝรั่งเศส ทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) ขณะทรงพระเยาว์ก็ทรงรับเป็นพ่อทูนหัวให้แก่เจ้าชายหลุยส์ [Louis ต่อมาคือเจ้าชายหลุยส์ที่ ๑ (Louis I ค.ศ. ๑๖๖๒-๑๗๐๑) แห่งโมนาโก] พระนัดดาในเจ้าชายโอโนเรที่ ๒ ด้วย เมื่อเจ้าชายหลุยส์ได้สืบบัลลังก์โมนาโกใน ค.ศ. ๑๖๖๒พระองค์ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส อย่างใกล้ชิดเหมือนเดิม ทรงเข้าร่วมในกองทัพฝรั่งเศส หลายครั้งและได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตไปเฝ้าสันตะปาปาเพื่อเจรจาให้พระองค์สนับสนุนเจ้าชายฟิ ลิป เคานต์แห่งอองจู (Philip, Countof Anjou)พระราชนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเป็นพระญาติสนิทกับพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ (Charles II ค.ศ. ๑๖๖๕-๑๗๐๐) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)สายสเปน ให้เป็นรัชทายาท เนื่องจากในขณะนั้นราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน กำลังจะสิ้นสายลง
     ในเวลาต่อมา ราชวงศ์กรีมัลดีก็ประสบปัญหาการขาดรัชทายาทเช่นเดียวกับราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน เมื่อเจ้าชายอองตวนที่ ๑ (Antoine I ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๓๑)พระโอรสทรงมีแต่พระธิดา อย่างไรก็ดีตามพินัยกรรมว่าด้วยการสืบทอดฐานันดรศักดิ์ ของลอร์ดจอห์น กรีมัลดี ใน ค.ศ. ๑๔๕๔ ที่ราชสำนักโมนาโกยึดถือปฏิบัติกันต่อ ๆ มาให้สิทธิแก่ธิดาคนโตในการสืบทอดตำแหน่งได้หากไม่มีโอรส (โดยไม่คำนึงว่าเป็นโอรสหรือธิดาที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่) แต่ิธดาจะต้องเสกสมรสกับชายในตระกู ลกรีมัลดีด้วย หรือมิฉะนั้นตำแหน่งประมุขของโมนาโกต้องตกเป็นของตระกูลกรีมัลดีสายอื่นดังนั้น ใน ค.ศ. ๑๗๕๑ เจ้าชายอองตวนที่ ๑ จึงทรงเลือกคู่ครองที่อยู่ในตระกูลกรีมัลดีให้แก่เจ้าหญิงลุย - อีโปลีต (Louis-Hippolyte)พระธิดา แต่พระธิดาทรงยกเลิกพิธีเสกสมรสและเสกสมรสกับชาก เดอ โกยองมาตีญง (Jacque de Goyan Matignon) ขุนนางฝรั่งเศส แห่งนอร์มองดี(Normandy) ที่มั่งคั่งซึ่งปรารถนาจะสืบทอดฐานันดรศักดิ์ เจ้าชายแห่งโมนาโก ซึ่งโดยขนบธรรมเนียมประเพณีของฝรั่งเศส แล้ว การสืบทอดฐานันดรศักดิ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ดีพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ทรงเห็นชอบด้วย โดยทรงสถาปนาให้เขาเป็นดุ็กแห่งวาเลนตีนัว (Duke of Valentinois) และให้มาตีญงเลิกใช้ชื่อสกุลและตราประจำตระกูลของตนและหันไปใช้ชื่อสกุลและตราประจำตระกูลกรีมัลดีแทน
     หลังจากเจ้าหญิงลุย-อีโปลีตได้สืบทอดตำแหน่งประมุขของโมนาโกใน ค.ศ.๑๗๓๑ และสิ้นพระชนม์ในอีก ๑๐ เดือนต่อมา มาตีญงก็ได้สืบราชบัลลังก์โมนาโกในพระนามเจ้าชายชากที่ ๑ (Jacques I ค.ศ. ๑๗๓๑-๑๗๓๓) โดยมีฝรั่งเศส ให้การรับรอง แต่พระองค์ไม่เป็นที่ยอมรับจากทั้งสมาชิกราชวงศ์กรีมัลดีและขุนนางแห่งราชสำนักแวร์ซายเนื่องจากพระองค์ยอมเสียศักดิ์ศรีในการเปลี่ยนชื่อสกุลเพื่อจะไต่เต้าครองตำแหน่งประมุขแห่งโมนาโก แม้โดยทั่วไป โมนาโกจะสามารถรักษา“สถานะเดิม” ไว้ได้ แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าอำนาจอธิปไตยของราชรัฐก็เป็นเพียงแต่ภาพลวงตาเท่านั้น ส่วนเจ้าชายชากที่ ๑ ก็ทรงมีความเป็นขุนนางฝรั่งเศส มากกว่าความเป็น “กรีมัลดี” หรือชาวโมนาโกและพระองค์โปรดที่จะประทับในบ้านที่กรุงปารีสมากกว่า ซึ่งปัจจุบันคือโอแตลมาตีญง (Hötel Matignon) ที่พำนักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส
     ใน ค.ศ. ๑๗๓๓ เจ้าชายชากที่ ๑ ทรงสละราชย์ให้เจ้าชายโอโนเรที่ ๓ (Honor”III ค.ศ. ๑๗๓๓-๑๗๙๓)พระโอรสวัย ๑๓ ปี ซึ่งทรงครองราชย์จนถึง ค.ศ. ๑๗๙๓ก่อนถูกฝรั่งเศส ขับออกจากบัลลังก์ ตลอดรัชกาลอันยาวนานถึง ๖๐ ปี โมนาโกมีสถานภาพเป็นเสมือนรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส องค์ประมุขทรงเข้าร่วมในการรบที่แฟลนเดอส์ (Flanders) แม่น้ำไรน์และประเทศแผ่นดินตำ (Low Countries) และ่ในกลาง ค.ศ. ๑๗๔๘ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นจอมพลของกองทัพฝรั่งเศส ด้วย
     นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๗๗๖ เจ้าชายโอโนเร (Honor”) พระโอรสองค์โตยังได้เสกสมรสกับโอร์ตองส์ มองซีนี(Hortense Mancini) หลานสาวของอดีตอัคร-เสนาบดีมาซาแรง (Mazarin) แห่งฝรั่งเศส ทำให้ราชวงศ์กรีมัลดีได้ครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาลในฝรั่งเศส รวมทั้งราชรัฐเรอเตล (Duchy of Rethel) ราชรัฐชาโตโปร์ซีออง (Principality of Ch้teau-Porcien) และอื่น ๆ นอกจากนี้ ราชวงศ์กรีมัลดียังมีรายได้จากการเก็บภาษีระวางเรือที่แวะจอดเพื่อเดินทางต่อไปยังอิตาลี และรายได้จากที่ดิน (fief) ในวาเลนตีนัว โอแวร์ญ (Auvergne) โปรวองซ์ และนอร์มองดี รวมทั้งในอัลซาซ (Alsace) ซึ่งทำให้โมนาโกมีรายได้สูงและประชาชนโดยทั่วไปมีฐานะดี
     อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolutionof 1789) ทรัพย์สมบัติของราชวงศ์กรีมัลดีและสิทธิของการเป็นลอร์ดในระบอบการปกครองแบบฟิวดัล (Feudalism) ถูกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (NationalConstituent Assembly) ประกาศยกเลิกในวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ เจ้าชายโอโนเรที่ ๓ ทรงพยายามปกป้องรักษาสิทธิต่าง ๆ ของพระองค์โดยอ้างสนธิสัญญาที่เคยกระทำกับฝรั่งเศส แต่ไร้ผล ส่วนการเมืองภายในราชรัฐก็แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มที่สนับสนุนองค์ประมุขกับอีกกลุ่มที่ต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน แต่ในเวลาไม่ช้ากองทัพฝรั่งเศส ก็เข้ายึดครองเขตนีซ) ต่อมาในวันที่ ๑๕กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๓ สภากงวองซิยงแห่งชาติ(National Convention) ก็มีมติให้ผนวกราชรัฐโมนาโกเข้ากับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ ๑ (First Republic of France)ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ โดยให้มีฐานะเป็นอำเภอ (canton) และต่อมาเป็นเมืองเอกของจังหวัด (arrondisement)
     ในช่วงสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ ๑ และจักรวรรดิฝรั่งเศส ที่ ๑ (First Empireof France) โมนาโกได้ถูกลดความสำคัญลงอีกทั้งราชรัฐต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจราชวงศ์กรีมัลดีต้องสูญเสียสมบัติที่มีค่าที่สะสมกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานภาพวาดล้ำค่าและศิลปวัตถุต่าง ๆ ถูกนำออกประมูลขาย ส่วนพระราชวังถูกใช้เป็นสถานที่พักชั่วคราวของกองกำลังฝรั่งเศส ก่อนเดินทัพต่อไป ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลและสถานสงเคราะห์คนจน ตลอดระยะเวลาของการปฏิวัติ ได้มีการนำตัวสมาชิกของราชวงศ์กรีมัลดีไปสอบสวนและคุมขัง แต่ทุกคนก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมายกเว้นมารี-เตแรส เดอ ชัวเซิล สแตงวีล (Marie-Th”rèsede Choiseul Stainville) ชายาของเจ้าชายฟิลิป โอรสองค์ที่ ๒ ของเจ้าชายโอโนเรที่ ๓ ที่ถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตีน
     อย่างไรก็ดี สถานการณ์ต่าง ๆ ได้พลิกผันเมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑(Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) ทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๓๐พฤษภาคมค.ศ. ๑๘๑๔ สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ฉบับที่ ๑ ได้คืนทรัพย์สินศักดิ์ศรีและพระเกียรติยศของราชรัฐและของราชวงศ์กรีมัลดีที่เคยเป็นหรือเคยมีก่อนวันที่๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๒ เจ้าชายโอโนเรที่ ๔ (Honor” IV ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๙)พระโอรสในเจ้าชายโอโนเรที่ ๓ ทรงมีพระสุขภาพทรุดโทรมและไม่อาจปฏิบัติพระภารกิจได้ ตำแหน่งองค์ประมุขจึงตกเป็นของเจ้าชายโอโนเร-กาบรีเอล (Honor”-Gabriel)พระโอรส ซึ่งสืบราชสมบัติต่อในพระนามเจ้าชายโอโนเรที่ ๕ (Honor”Vค.ศ. ๑๘๑๙-๑๘๔๑)
     หลังสมัยร้อยวัน (One Hundred Day) ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ กลับเข้ามามีอำนาจในฝรั่งเศส อีกครั้งแต่ต่อมาต้องพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) มหาอำนาจยุโรปได้ตกลงทำสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ ขึ้นเมื่อวันที่ ๘พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๗ ในสนธิสัญญาฉบับหลังนี้ ราชรัฐโมนาโกได้รับการพิจารณาให้เป็นรัฐในอารักขาของราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย(Kingdom of Piedmont-Sardinia) ตามหลักการปิดล้อมฝรั่งเศส (Principle ofEncycle) อีกทั้งยังเป็นการลดบทบาทของฝรั่งเศส ที่มีต่อโมนาโกนานนับศตวรรษอีกด้วย
     เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848) ประกอบกับในขณะนั้นกระแสชาตินิยมและเสรีนิยมที่แผ่ไปทั่วยุโรป มองตงและร็อกบรูนซึ่งไม่พอใจที่จะรวมตัวอยู่ในราชรัฐโมนาโก จึงเห็นเป็นโอกาสในการประกาศตัวเป็นเสรีนครเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ เจ้าชายโฟลเรสตอง (Florestan ค.ศ. ๑๘๔๑-๑๘๕๖) และต่อมาเจ้าชายชาลส์ที่ ๓ (Charles III ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๘๘๙) องค์ประมุขของราชรัฐทรงพยายามให้เมืองมองตงกับร็อกบรูนอยู่ใต้ปกครองของโมนาโกโดยตรงอีก แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จ
     ขณะเดียวกันในปลายทศวรรษ ๑๘๕๐ ได้เกิดสงครามระหว่างราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียกับออสเตรีย โดยปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียต้องการกำจัดอำนาจของออสเตรีย ออกจากคาบสมุทรอิตาลี ทั้งนี้โดยมีจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (NapoleonIII ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐) แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส ที่ ๒ (Second Empireof France) ให้การสนับสนุน ก่อนสงครามจะสิ้นสุดลงเจ้าชายชาลส์ที่ ๓ ก็ทรงยินยอมสละสิทธิในการปกครองเมืองมองตงและเมืองร็อกบรูนให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งในขณะนั้นได้ครอบครองเมืองซาวอยและนีซแล้วตามสนธิสัญญาตูิรน (Treaty of Turin)ค.ศ. ๑๘๖๐ เพื่อตอบแทนฝรั่งเศส ที่สนับสนุนปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียทำสงครามขับไล่ออสเตรีย ออกไปจากรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรอิตาลี โมนาโกได้รับเงินชดเชยจากการสูญเสียเมืองทั้งสองดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน ๔ ล้านฟรังก์ พร้อมกับการค้ำประกันเอกราชของโมนาโกภายใต้การปกครองของราชวงศ์กรีมัลดีนับเป็นครั้งแรกในรอบ๓ศตวรรษที่เอกราชของโมนาโกได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและไม่เป็นรัฐในอารักขาของประเทศใด ๆ แต่ในทางปฏิบัติโมนาโกยังคงตกอยู่ใต้อิทธิพลและการชี้นำของฝรั่งเศส อีก และใน ค.ศ. ๑๘๖๕ ทั้ง ๒ ประเทศได้ร่วมกันทำสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพศุลกากร
     หลังสูญเสียมองตงและร็อกบรูนอาณาเขตของราชรัฐโมนาโกก็ลดลงจากเดิมเหลือเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้น ซึ่งทำให้รายได้ของประเทศไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งในการบริหารประเทศและการดำเนินงานในราชสำนัก ใน ค.ศ. ๑๘๖๓เจ้าชายชาลส์ที่ ๓ และเจ้าหญิงกาโรลีน (Caroline) พระมารดาจึงคิดจัดตั้งสถานบันเทิงและการพนันขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “สมาคมเริงทะเล” (Soci”t”des Bains de Mer)โดยให้สัมปทานแก่นักธุรกิจ ในขั้นแรกไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลังจากฟรองซัวบลอง (Fran“ois Blanc) ผู้จัดการสถานบันเทิงและการพนันที่เมืองฮอมบูร์ก(Homburg) ได้รับสัมปทานเป็นเวลา ๕๐ ปี เข้ามาดำเนินธุรกิจ กิจการของสถานบันเทิงและการพนันในโมนาโกก็เฟืòองฟู บลองซึ่งต่อมาได้สมญานามว่า “ผู้ิวเศษแห่งมอนติคาร์โล” (Magician of Monte Carlo) สามารถเนรมิตให้โมนาโกเป็นศูนย์กลางของสถานบันเทิงอย่างแท้จริง มีการสร้างโรงแรมที่สวยงาม โรงละครและบ่อนการพนันหรือคาสิโน (casino) ที่หรูหราในบริเวณสเปลูกูโก (Speluguco)ซึ่งใน ค.ศ. ๑๘๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมอนติคาร์โลเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายชาร์ลนักท่องเที่ยวที่เป็นมหาเศรษฐีและบุคคลสำคัญต่าง ๆ จำนวนมากพากันหลั่งไหลเข้ามาพักผ่อนในโมนาโกเพิ่มขึ้นทุกปี และนำรายได้จำนวนมหาศาลมาสู่ราชรัฐโดยเฉพาะภายหลัง ค.ศ. ๑๘๖๘ เมื่อทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองนีซกับเมืองเวนตีมีลยา (Ventimiglia) ได้สร้างเสร็จ ใน ค.ศ. ๑๘๖๙ ได้มีการยกเลิกการเก็บภาษีทุกประเภทด้วย โมนาโกจึงกลายเป็นประเทศที่ปลอดภาษี
     ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของโมนาโกสิ้นสุดลงในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๑ เมื่อเจ้าชายอัลแบร์ที่ ๑ (Albert I ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๒๒)ทรงประทานรัฐธรรมนูญให้แก่ชาวโมนาโก ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑เจ้าชายหลุยส์ ต่อมาเป็นองค์ประมุขในพระนามหลุยส์ที่ ๒ (Louis II ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๔๙) พระโอรสและองค์รัชทายาทได้เข้าร่วมในกองทัพฝรั่งเศส และได้เลื่อนยศเป็นนายพล ขณะเดียวกัน ในภาวะสงครามที่เกิดขึ้นรัฐบาลฝรั่งเศส ก็ิวตกว่าเจ้าชายหลุยส์ซึ่งมีพระชนมายุไม่น้อยยังครององค์เป็นโสดและขาดรัชทายาท จึงเกรงว่าโมนาโกอาจได้ผู้ปกครององค์ใหม่ในอนาคตที่จะนำภัยมาสู่ความมั่นคงของฝรั่งเศส ได้ในที่สุดปัญหาการสืบราชสมบัติก็คลี่คลายลงเมื่อเจ้าชายหลุยส์ทรงรับชาร์ลอต ลูเว(Charlotte Louvet) ิธดานอกสมรสที่เกิดในแอลจีเรียเป็นพระธิดาบุญธรรม และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เจ้าชายอัลแบร์ที่ ๑ ก็ประทานพระอนุญาตให้เสกสมรสกับเคานต์ปีแยร์ เดอ โปลีญาก (Pierre de Polignac) เชื้อสายขุนนางฝรั่งเศส โดยโปลีญากต้องเปลี่ยนชื่อสกุลเป็นกรีมัลดีทั้งสองมีโอรสธิดา ๒พระองค์ ซึ่งเจ้าชายเรนีเย (Rainier) โอรสได้สืบทอดตำแหน่งองค์ประมุขของโมนาโกต่อจากเจ้าชายหลุยส์ที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ โดยมีพระนามอย่างเป็นทางการว่าเจ้าชายเรนีเยที่ ๓(Rainier III ค.ศ. ๑๙๔๙-๒๐๐๕)
     สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังมีผลให้โมนาโกและฝรั่งเศส ได้ทำข้อตกลงในสนธิสัญญาฉบับใหม่ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซาย(Treaty of Versailles) โดยให้จำกัดอำนาจอารักขาโมนาโกของฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกันก็ให้โมนาโกกำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองการทหารและเศรษฐกิจของฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีการตกลงเกี่ยวกับสิทธิการปกครองโมนาโกของฝรั่งเศส หากราชวงศ์กรีมัลดีสิ้นเชื้อสายลงด้วย
     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โมนาโกได้ถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองเจ้าชายเรนีเยรัชทายาทก็ทรงเป็นทหารอาสาสมัครในกองพลน้อยของฝรั่งเศส ทำการต่อสู้กับฝ่ายเยอรมนี และทรงได้รับเหรียญกล้าหาญในการรบ ใน ค.ศ. ๑๙๔๙พระองค์ได้สืบตำแหน่งองค์ประมุขต่อจากเจ้าชายหลุยส์ที่ ๒ พระอัยกา ต่อมาในค.ศ. ๑๙๕๖ เจ้าชายเรนีเยที่ ๓ ได้ทรงอภิเษกสมรสกับเกรซ เคลลี(Grace Kelly)นางเอกภาพยนตร์ฮอลลีวูดสาวสวยชาวอเมริกัน การอภิเษกสมรสดังกล่าวทำให้ราชวงศ์กรีมัลดีเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก และโมนาโกกลายเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในระดับสากล ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากเดินทางมาเยี่ยมชมพระราชวังของโมนาโกซึ่งกลายเป็นเสมือนเมืองในเทพนิยาย
     ตลอดรัชกาลอันยาวนานถึง ๕๕ ปี (ค.ศ. ๑๙๔๙-๒๐๐๕) เจ้าชายเรนีเยที่ ๓ทรงนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่โมนาโกอย่างมาก ทรงทำให้ราชรัฐมีเสถียรภาพทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยกเลิกการลงโทษด้วยการประหารชีวิต ให้สิทธิสตรีในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และจัดตั้งศาลฎีกาขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพพื้นฐานแก่ชาวโมนาโก นอกจากนี้ยังทรงสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับฝรั่งเศส ในเรื่องนโยบายปลอดภาษี โดยยินยอมทำข้อตกลงกับรัฐบาลฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ในการเก็บภาษีรายได้ของพลเมืองฝรั่งเศส ที่เข้ามาอาศัยในโมนาโกน้อยกว่า ๕ ปีในอัตราเดียวกับฝรั่งเศส และให้บริษัทที่มีกำไรร้อยละ ๒๕ จากนอกประเทศต้องเสียภาษีด้วย นับเป็นการเก็บภาษีเป็นครั้งแรกของโมนาโกในรอบ ๑๐๐ปี ส่วนในด้านการพัฒนาประเทศ โมนาโกได้เปลี่ยนจากการที่เป็นเพียงสถานที่พักผ่อนเขตรีเวียรามาเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ธุรกิจ วัฒนธรรม และการกีฬา รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางของนักทัศนาจรที่ต้องการความหรูหรา เจ้าชายเรนีเยที่ ๓ ซึ่งทรงได้รับสมญานามว่า “เจ้าชายนักก่อสร้าง”(Builder Prince) ทรงส่งเสริมนโยบายการก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งรวมถึงการขยายพื้นที่ของโมนาโกอีกร้อยละ ๒๐ โดยการถมทะเล ปรับปรุงท่าเรือโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ที่สามารถรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ โมนาโกยังร่วมกิจกรรมนานาชาติมากขึ้นโดยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ(United Nations - UN) ใน ค.ศ. ๑๙๙๓โดยเป็นสมาชิกสำดับที่ ๑๘๓ และใน ค.ศ. ๒๐๐๔ เป็นสมาชิกสภายุโรป (Council ofEurope) ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ โมนาโกก็ประสบความสำเร็จในการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับฝรั่งเศส โดยสามารถตกลงกันว่าหากราชวงศ์กรีมัลดีไร้องค์รัชทายาทที่จะสืบบัลลังก์ต่อไปในอนาคต ราชรัฐยังคงรักษาเอกราชต่อไปได้ และไม่ต้องตกเป็นรัฐในอารักขาหรือดินแดนของฝรั่งเศส แต่ในด้านการทหารและการป้องกันประเทศนั้น เพื่อความมั่นคงของทั้ง ๒ ประเทศให้คงเป็นความรับผิดชอบของฝรั่งเศส ต่อไป
     ปัจจุบันโมนาโกเป็นประเทศที่มีรายได้หลักจากนักทัศนาจรจำนวนนับล้านคนจากทั่วโลกที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวชมความงามและแสวงหาความบันเทิงในโรงละครที่หรูหราและการพนันในราชรัฐเล็ก ๆ แห่งนี้ กอปรกับการยกเว้นการเก็บภาษีรายได้ของประชาชน (ยกเว้นชาวฝรั่งเศส ตามข้อตกลง ค.ศ. ๑๙๖๓) รวมทั้งไม่มีภาษีมรดก จึงมีพ่อค้าคหบดีและมหาเศรษฐีจำนวนมากจากนานาประเทศเข้ามาพักอาศัย โมนาโกยังเป็นศูนย์กลางของการแข่งรถมอนติคาร์โลแรลลี(Monte CarloRally) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๑ ซึ่งนักขับรถทั่วทวีปยุโรปจะลงสนามแข่งรถแรลลีเป็นระยะทาง ๓,๒๐๐ กิโลเมตรจากรีเวียราของฝรั่งเศส ผ่านโมนาโกไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส นอกจากนี้ โมนาโกยังจัดให้มีการแข่งรถโมนาโกกรองด์ปรีซ์ (Monaco Grand Prix) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่นักแข่งรถสามารถประลองความเร็วบนถนนที่คดเคี้ยวในโมนาโกไปมาเป็นระยะทาง ๒๖๐.๕๒ กิโลเมตรซึ่งแต่ละปีจะมีนักขับรถแข่งที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกเข้าร่วมในรายการแข่งขันรถดังกล่าวนี้ ส่วนดวงตราไปรษณีย์ของโมนาโกซึ่งเริ่มจำหน่ายเป็นครั้งแรกในค.ศ.๑๘๖๕ ก็เป็นที่นิยมสะสมของนักสะสมแสตมป์ทั่วโลกซึ่งนำรายได้สูงให้แก่ประเทศ
     เจ้าชายเรนีเยที่ ๓ สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ขณะมีพระชนมายุ ๘๑ ปีส่วนเจ้าหญิงเกรซพระชายาอดีตดาราภาพยนตร์ที่ทำให้โมนาโกเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกได้สิ้นพระชนม์ก่อนหน้านี้ในอุบัติเหตุรถยนต์ใน ค.ศ. ๑๙๘๒ เจ้าชายอัลแบร์ที่ ๓ (Albert III ค.ศ. ๒๐๐๕)พระโอรสได้ทรงครองตำแหน่ง “เจ้าชายแห่งโมนาโก”ต่อจากพระบิดาและปฏิบัติหน้าที่ประมุขของประเทศ ทรงเป็นผู้แทนในการลงนามในสนธิสัญญาต่าง ๆ ระหว่างประเทศ ส่วนหัวหน้าคณะรัฐบาล (Cabinet หรือ Councilof Government) ได้แก่ นายกรัฐมนตรี (Minister of State) ทำหน้าที่แทนพระองค์ในการบริหารและบัญชาการตำรวจ ตำแหน่งดังกล่าวนี้เริ่มมีตั้งแต่โมนาโกประกาศใช้รัฐธรรมนูญใน ค.ศ. ๑๙๑๑ จนถึงเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับค.ศ. ๒๐๐๒ ในอดีตนายกรัฐมนตรีต้องเป็นพลเมืองฝรั่งเศส ที่รัฐบาลฝรั่งเศส เสนอชื่อให้เจ้าชายแห่งโมนาโกทรงแต่งตั้ง แต่ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งนี้อาจเป็นพลเมืองฝรั่งเศส หรือพลเมืองโมนาโกก็ได้ที่เจ้าชายแห่งโมนาโกทรงคัดเลือกและแต่งตั้งเองโดยรัฐบาลฝรั่งเศส เป็นผู้ถวายคำแนะนำ.
     

ชื่อทางการ
ราชรัฐโมนาโก (Principality of Monaco)
เมืองหลวง
โมนาโก (Monaco)
เมืองสำคัญ
มอนติคาร์โล (Monte Carlo)
ระบอบการปกครอง
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ประมุขของประเทศ
เจ้าชาย
เนื้อที่
๑.๙๕ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก : ประเทศฝรั่งเศส ทิศตะวันออก : ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
จำนวนประชากร
๓๒,๖๗๑ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
ฝรั่งเศสร้อยละ ๔๗ (Monegasque) ร้อยละ ๑๖อิตาลีร้อยละ ๑๖ และอื่น ๆ ร้อยละ ๒๑
ภาษา
ฝรั่งเศส
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๙๐ และอื่น ๆ ร้อยละ ๑๐
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป